sombat_amarin1

สมบัติอมรินทร์คำกลอน

เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

สารบัญ

  • ความเป็นมา
  • เนื้อหา
  • แนะนำสมบัติอมรินทร์คำกลอน (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
  • บรรณานุกรม

แนะนำสมบัติอมรินทร์คำกลอน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ เดิมอยู่ในสมุดข่อย เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งทำหน้าที่ชำระวรรณคดีต่างๆ อยู่ในขณะนั้น พบสมุดเล่มนี้เข้า จึงได้นำมาตีพิมพ์ แต่มิได้พิมพ์เป็นรูปเล่มเช่นเดียวกับหนังสือวรรณคดีอื่นๆ เพราะมีปริมาณไม่มากนัก มีเพียง 370 คำกลอนเท่านั้น ทั้งอีก 80 คำกลอนในตอนหลังๆ ก็มีผู้สนใจในวรรณคดีเก่าบางท่าน ให้คำวิจารณ์ไว้ว่า อาจจะไม่ใช่สำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เอง แต่มีผู้อื่นแต่งเติมขึ้นภายหลัง เพราะความเก่าจบตั้งแต่พระอินทร์ไปตามนางสุชาดาคืนมาได้ ความใหม่นี้ด้อยในด้านความไพเราะและแต่งค้างไว้ ในการพิมพ์ครั้งนั้น ได้นำลงพิมพ์ในหนังสือ วชิรญาณ ซึ่งเป็นนิตยสารของหอพระสมุดวชิรญาณ จึงทำให้วรรณคดีที่ดีเด่นเล่มนี้ไม่แพร่หลายไปเท่าที่ควร ระยะเวลาที่แต่งวรรณคดีเรื่องนี้ยังไม่ทราบแน่นอน แต่พอจะสันนิษฐานได้ว่าคงจะแต่งก่อนกากีคำกลอน เพราะความประณีตไพเราะของถ้อยคำผิดกัน ถ้าเรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอนแต่งกลอนกากีคำกลอน สมบัติอมรินทร์ก็จะเป็นนิทานคำกลอนเล่มแรกในประวัติวรรณคดีไทย และเป็นการเบิกทางสำหรับการประพันธ์นิทานคำกลอนเล่มอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมกันต่อมาในสมัยหลังมาก เริ่มต้นด้วยนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ มาจนถึงเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งแต่งกันอย่างแพร่หลายในชั้นหลัง

นิทานคำกลอนเป็นการแต่งคำกลอนลักษณะหนึ่ง คำกลอนส่วนมากที่แต่งกันมาแต่สมัยอยุธยา มักเป็นบทละคร บทสักรวา เสภา ดอกสร้อย และเพลงยาวเป็นพื้น มีนิทานคำกลอนอยู่เพียงเล่มเดียว คือ เรื่อง ศิริวิบึลกิต ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็แต่งเป็นกลอนกลบท ดังนั้นหนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ จึงน่าจะได้รับเกียรติในฐานะเป็นหนังสือที่แสดงแบบอย่างการประพันธ์กลอนแบบนิทานคำกลอนเล่มแรกในวงวรรณคดี และยิ่งหนังสือเล่มนี้มีลักษณะวรรณคดีอยู่อย่างพร้อมมูล ประกอบกับฉบับพิมพ์ไม่ค่อยแพร่หลาย จึงยิ่งเป็นการสมควรที่จะแนะนำให้รู้จักกันต่อไป

หนังสือสมบัติอมรินทร์คำกลอน ขึ้นต้นกลอนตามแบบเพลงยาว คือ ขึ้นที่วรรคหลัง และแต่งด้วยกลอน ๘ ซึ่งนิยมแต่งกันมาก่อนที่จะได้วิวัฒนาการมาเป็นกลอนแบบสุนทรภู่ กล่าวคือวรรคหนึ่งมี ๘ คำ แต่ไม่มีสัมผัสในถือเคร่งครัดเช่นกลอนแบบสุนทรภู่ เนื้อความดำเนินไปอย่างรวดเร็ว กล่าวถึง "องค์อมเรศอดิศร" คือพระอินทร์ และบรรยายถึงความรุ่งเรืองงดงามของปราสาทราชฐานของพระอินทร์อย่างละเอียดละออ ถ้านอกจากไตรภูมิพระร่วงซึ่งแต่งเป็นความเรียง และมีเล่าเรื่องสวรรค์ของพระอินทร์อยู่มากแล้ว ก็ยากที่จะพบในวรรณคดีเล่มใด ซึ่งบรรยายเรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์มากเท่าเรื่องนี้

ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะผู้ประพันธ์เจาะจงให้พระอินทร์เป็นตัวเอกของเรื่องนี้จริงๆ และต้องการจะสร้างมโนภาพให้ผู้อ่านเห็นความงามของทิพยสมบัติของพระอินทร์ ซึ่งถ้าพระอินทร์ไปอยู่ในวรรณคดีเล่มอื่น ก็จะเป็นเพียงตัวประกอบ เช่นเป็นผู้ที่เล็งทิพยเนตรมาดูแลทุกข์สุขในโลกมนุษย์ดังในเรื่องสังข์ทอง และการบรรยายทิพยสมบัติของพระอินทร์ซึ่งมีฐานะเป็นตัวประกอบในเรื่อง ก็จะเป็นไปไม่ได้มากสมใจผู้ประพันธ์ นับว่าผู้ประพันธ์ทำได้เยี่ยม เพราะไม่มีวรรณคดีเล่มใดที่จะสร้างมโนภาพให้ผู้อ่านได้เห็นความงดงามของ "เมืองพระอินทร์" ได้ดีเท่าวรรณคดีเล่มนี้ ในไตรภูมิพระร่วงก็เป็นความเรียงจึงไม่มีรสวรรณคดีเท่า พระอินทร์นั้นในคติเดิมทางพราหมณ์และทางพุทธ ก็กล่าวไว้ว่ามีนิวาสสถานบนสรวงสรรค์ที่งดงาม แต่เราไม่มีโอกาสทราบได้ว่างดงามเพียงใดเลย ถ้าไม่ได้อ่านสมบัติอมมรินทร์คำกลอน และสร้างมโนภาพตามไป

พระอินทร์เคยเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาพรหมณ์มาก่อน ในอภิธานท้ายหนังสือศกุนตลาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ เล่าว่าชนชาติอริยกะนั้นนับถือว่าเป็นเทพเจ้าก่อนเทพเจ้าองค์อื่นๆเช่น พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม เป็นต้น เพราะพวกอริยกะยกเข้าสู่ดินแดนมัธยมประเทศเป็นครั้งแรกนั้น พระอินทร์ก็ได้นำทัพเข้ารบกับพวกทัสยุ ซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิมจนได้ชัยชนะ เพราะฉะนั้นในไตรเพทจึงสรรเสริญพระอินทร์อยู่มาก แต่ในชั้นหลังพระอินทร์กลับมีฤทธิ์น้อยลง เพราะทำสงครามแพ้พวกอสูรบ่อยๆ ทั้งความประพฤติก็ต่ำลง เช่นไปผิดเมียของฤๅษีตนหนึ่งจนต้องถูกฤๅษีสาปให้พระอินทร์มีนิมิตลับ หรือเครื่องหมายของผู้หญิงติดพราวไปหมดทั้งองค์ ภายหลังฤๅษีหายโกรธแล้วก็สาปให้เครื่องหมายนั้นเป็นตา เพราะเหตุฉะนี้จึงได้ชื่อว่า ท้าวสหัสนัยน์ แปลว่า ท้าวพันตา

ในหนังสือเรื่องเมืองสวรรค์ของเสฐียรโกเศศ เล้าเรื่องพระอินทร์ตามคติพราหมณ์ไว้ว่า "พระอินทร์มีที่อยู่บนสวรรค์ เรียกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง คือชั้นจาตุมหาราชิกา, ชั้นดาวดึงส์, ชั้นยามา, ชั้นดุสิต, ชั้นนิมมานรดี, ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ชื่อ "ดาวดึงส์" นี้เพิ่งมาตั้งในชั้นหลังเมื่อสวรรค์แบ่งออกเป็น ๖ ชั้นเช่นที่กล่าวมาแล้ว เพราะแต่เดิมสวรรค์มีชั้นเดียว และหมายเอาชั้นฟ้าของพระอินทร์ ต่อมาเกิดมีเมืองฟ้าขึ้นหลายชั้นคำว่าสวรรค์ก็เป็นใช้ได้ทั่วไป ครอบเมืองฟ้าได้ทุกชั้น เพราะเป็นเมืองสว่างรุ่งเรืองทั้งนั้น ตลอดจนเมืองฟ้าในลัทธิอื่นก็เรียกเมืองสวรรค์ได้ เมื่อคำสวรรค์ใช้แทนคำว่าเมืองฟ้าเมืองเทวดาได้ทั่วไป ไม่จำกัดแต่เมืองฟ้าของพระอินทร์ เมืองฟ้าของพระอินทร์จึงมีชื่อเรียกเป็นพิเศษอีกชื่อหนึ่ง คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นคำบาลี แปลว่า ๓๓ ในที่นี้หมายเอาเทวดาชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันบนสวรรค์ชั้นนี้ ๓๓ องค์ ลางทีก็เรียกว่าไตรตรึงส์ซึ่งเป็นคำสันสกฤต แปลว่า ๓๓ เหมือนกัน เหตุฉะนี้ในหนังสือไทยจึงใช้คำทั้ง ๒ คำ

ที่ว่ามีเทวดาผู้ใหญ่ ๓๓ องค์นั้น ในจำนวนนี้รวมทั้งพระอินทร์ด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า เดิมพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อ มฆมานพ มีเพื่อนสนิทอยู่ ๓๒ คน ได้ทำบุญกุศลไว้มาก เมื่อตายจึงไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางกลางเมืองของพระอินทร์โดยเฉพาะ ชื่อเมืองสุทัศน์แปลว่าดูงาม เป็นชื่อที่มีมาแล้วแต่ครั้งพวกอสูรอยู่ เมื่อพระอินทร์กับพวกแย่งเมืองนี้ได้จึงคงชื่อเดิมไว้ เมืองสุทัศน์นี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า อมรวดี แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา ส่วนสหายทั้ง ๓๒ คนที่ไปเกิดเป็นเทวดาด้วย ต่างก็มีเมืองของตนอยู่รอบเมืองสุทัศน์ของพระอินทร์ แบ่งกันอยู่ ๔ ทิศ ๆละ๘ เมือง จึงมีเมืองทั้งหมด ๓๓ เมือง เทวดาผู้ใหญ่สหายของพระอินทร์ ๓๒ องค์นี้ที่รู้จักชื่อกันดีก็มีอยู่หลายองค์เช่น มาตุลีซึ่งมีหน้าที่เป็นสารถีขับรถพระอินทร์ เวสสุกรรมซึ่งเป็นนายช่างของเทวดา พระจันทร์เทพบุตร พระสุริยเทพบุตร พระพิรุณซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝนเป็นต้น

เรื่องจำนวน ๓๓ นี้ เข้าใจว่าเป็นจำนวนเทวดาดั้งเดิมสืบมา บางทีจะไม่ใช่มาจากเรื่องที่เล่าข้างต้น เพราะ ๓๓ เป็นจำนวนเทวดาดั้งเดิมสืบมาแต่สมัยพระเวท ซึ่งเขาแบ่งเทวดาออกเป็น ๓ พวก ๆละ ๑๑ องค์ คือเทวดาที่อยู่บนสวรรค์พวกหนึ่ง มีพระวรุณและพระสูรย์เป็นต้น อยู่กลางฟ้ากลางอากาศพวกหนึ่ง มีพระอินทร์เป็นต้น และมีพวกอยู่บนแผ่นดินอีกพวกหนึ่ง มีพระอัคนีเป็นต้น"

หน้าที่ของพระอินทร์นั้น คือคอยขับไล่และประหารพวกอสูร หรือฤๅษีซึ่งทำความมืดมัวให้แก่โลกโดยบำเพ็ญตบะ ทำให้เกิดความเดือดร้อน พระอินทร์ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธเรียก วชิราวุธ หรือใช้นางเทพอัปสรไปยั่วยวนทำลายตบะนี้ เมื่อพระอินทร์ล้างผลาญอสูรหรือฤๅษีตนใดแล้ว ก็ให้ฝนตกลงมา โดยเหตุที่พระอินทร์มีหน้าที่คอยให้ความสว่าง หรือความชุ่มชื่นเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นงานสำคัญของคนสมัยโบราณ ดังนี้ต่อมาพระอินทร์จึงได้เป็นใหญ่เหนือเทวดาอื่นทั้งหมด และคำว่า "อินทร์" นอกจากจะหมายถึงพระอินทร์แล้ว ก็ยังแปลว่าเป็นใหญ่ได้ด้วย

อันที่จริงเรื่องของพระอินทร์ โดยทั่วๆไปแล้ว เป็นที่คุ้นหูของคนไทยมาแต่โบราณ เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระอินทร์นั้นเป็นเทพเจ้าที่ประพฤติธรรม จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก และมีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทอันเป็นคัมภีร์สำคัญในทางพุทธศาสนา ชาดกต่างๆอันเป็นนิทานแต่ครั้งพุทธกาล และวรรณคดีที่แต่งโดยอาศัยเค้าเรื่องจากชาดก จึงมักหลีกเรื่องพระอินทร์ไม่พ้น นิทานเก่าๆที่เล่ากันในพื้นเมืองของไทยที่เรียกกันว่าปัญญาสชาดก และได้รับแอทธิพลจากชาดกทางพุทธศาสนา ก็มีเรื่องพระอินทร์เล่าอยู่มากเช่นเดียวกัน พระอินทร์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย มักจะทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลกและเป็นผู้บำบัดทุกข์

ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงเล่าว่า พระอินทร์รู้ทุกข์สุขในโลกได้โดยอาศัยการสังเกตแท่นบัณฑุกัมพล ถ้าแท่นแข็งก็แสดงว่าเกิดเหตุร้าย ในอรรถกถาธรรมบทเล่าถึงพระอินทร์ว่าเป็นเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นใหญ่กว่าเทวดาทั้งหลาย จึงได้นามว่า เทวราชหรืออมรินทราธิราช พระอินทร์ในพระพุทธศาสนาไม่เป็นตำแหน่งประจำอยู่ตลอดไปเหมือนพระอินทร์ตามลัทธิพราหมณ์ ใครทำบุญบารมีไว้ก็ได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ และถ้าตายก็ต้องจุติและมีคนใหม่ไปเป็นพระอินทร์แทน ทิพยสมบัติทั้งหลายของพระอินทร์องค์เก่ารวมทั้งชายาก็ต้องดับสลายไป พระอินทร์องค์ใหม่ก็ต้องเนรมิตทิพยสมบัติขึ้นใหม่

เมืองของพระอินทร์ชื่อว่า สุทัสนนคร ซึ่งมีความงดงามมาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้มีเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติหลายเรื่องเช่น เรื่องพระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเมาลีของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และพระพุทธองค์นิพพานแล้วก็ได้เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วขวาด้วย หรือเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ นอกจากจะได้ทราบเรื่องพระอินทร์แล้วยังจะได้ทราบเรื่องสวรรค์อีกด้วย

เรื่องสวรรค์เป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาฝังใจมากคือ สวรรค์ชั้นอื่นๆดูเหมือนจะไม่เป็นที่สนใจเท่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นที่อยู่ของพระอินทร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เจ้าพระยาพระคลัง(หน) แต่งเรื่องสมบัติอมรินทร์คำกลอนนี้ ย่อมได้กำไรในการดึงดูดความสนใจอยู่ชั้นหนึ่งก่อนแล้ว ด้วยการเลือกหัวเรื่องซึ่งใครก็พอใจจะทราบอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเรื่องสวรรค์ของพระอินทร์จะมีเล่าไวว้ในอรรถกถาธรรมบทบ้าง ก็ไม่มีลักษณะเป็นวรรณคดี ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง แม้จะมีเล่าไว้ละเอียดก็เป็นความเรียง

ความงามของสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้เริ่มพรรณนา โดยชี้ให้เห็นลักษณะการตั้งอยู่ของสรวงสวรรค์ว่าลอยอยู่ในท้องฟ้า ด้วยการ "เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา" อันหมายถึงสรวงสวรครค์นั้นวางอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุที่เรียงรายอยู่ถึงแสนลูกด้วยกัน ส่วนปราสาทเวชยันต์ที่สถิตของพระอินทร์นั้นเป็นปราสาท ๗ ชั้น พรรณนาไว้สวยงามมาก และนอกจากนี้ยังมีหมู่ไม้กัลปพฤกษ์ หมู่ตาลทอง โดยพรรณนาข้อความตอนนี้ว่า

"หนึ่งแถวไม้กำมพฤกษ์ที่นึกทิพ จะนับแสนแทนสิบก็เกินถวิล มีทรายทองรองรับเป็นพื้นดิน ประพรมสินธุ์เสาวรสจรุงใจ กำแพงแก้วล้วนแก้วทั้งเจ็ดชั้น ตาลสุวรรณรุ่นรื่นเรียงไสว เมื่อลมพัดก็สะบัดสำเนียงใบ เฉลิมโสตหฤทัยดังดนตรี" แล้วพรรณาถึงโรงเทวสภาที่ประชุมเทวดาซึ่งสูง "ห้าร้อยโยชน์สุดบราลี ท่วงทีเทิ่งท้องทิฆัมพร"

พรรณนาถึงท้องพระลานทอง ตอนหนึ่งว่า

พรรณนาถึงพระเจดีย์จุฬามณี ตอนหนึ่งว่า

พรรณนาถึงไม้ปาริกชาติ ตอนหนึ่งว่า

๏ มีพระยาไม้ปาริกชาติ

สูงร้อยโยชน์ยิ่งไม้ในหิมวันต์

ประจำเชิงเมรุมาศมไหศวรรย์

ทรงสุคันธ์ทิพรสขจายจร

ส่วนแท่นอาสน์นั้น ก็มีพรรณนาไว้ว่า

นอกจากนี้ยังมีพรรณนาถึงสระโบกขรณี ซึ่ง "กว้างยาวร้อยโยชน์จัตุรัส โสมนัสในท่าสินธ์สนาน แม้นจิตว่าจะลงไปสรงธาร ก็บันดาลพุ่งฟุ้งมายังองค์ " และมีบรรยายความงามออกไปอีกมาก ส่วนอุทยานนันทวันนั้น ก็มีไม้ดอกไม้ผลเหลือจะคณานับ รวมความว่าแต่ละตอนที่พรรณนา ทำให้เกิดภาพพจน์ที่งดงามสุดจะบรรยาย ทำให้เห็นว่าท่านผู้ประพันธ์นั้นนอกจากจะบรรยายไปตามรายละเอียดที่มีอยู่ในอรรถกถาธรรมบทของเดิมแล้ว ก็อาจจะได้ความประทับใจ จากความงดงามของสวนที่นิยมตกแต่งกันอยู่ในขณะนั้น เช่นในเขตพระราชฐานหรือตามบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นต้น ความงามของสรวงสวรรค์ของพระอินทร์ที่ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) นิพนธ์นี้ ใจความคล้ายคลึงกับในไตรภูมิพระร่วง เพราะเอาเค้าความมาจากอรรถกถาธรรมบทเหมือนกัน ต่างแต่ในไตรภูมิพระร่วงเป็นความเรียง จึงรู้สึกว่าจะด้อยในรสของถ้อยคำไปสักหน่อย

ต่อจากเรื่องพรรณนาความงามของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เริ่มเรื่องของพระอินทร์ ตอนตามนางสุชาดา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่ในอรรถกถาธรรมบท ในอรรถกถาธรรมบทเล่าเรื่องนางสุชาดาไว้ว่า นางนั้นเคยเป็นชายาเอกของพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ได้มาครองดาวดึงส์ นางไม่ได้กลับชาติมาเกิดเป็นชายาของพระอินทร์อีก เช่นเดียวกับชายาอื่นๆคือนางสุจิตรา นางสุนันทาและนางสุธรรมา เพราะนางประกอบกรรม จึงต้องไปเกิดเป็นพระราชธิดาของอสูร ชื่อท้าวเวปจิตตา ต่อมาพระบิดาได้ประกอบพิธีสยุมพรนาง และเชิญอสูรหนุ่มๆมาให้นางเลือกคู่ พระอินทร์จึงแปลงมาในงานนี้ นางก็เกิดความรักและตามพระอินทร์มา จึงได้กลับมาเป็นชายาเอกของพระอินทร์อย่างเดิม

เจ้าพระยาพระคลัง(หน)ได้นำเรื่องนี้มาเรียบเรียงเป็นนิทานคำกลอนโดยสมูรณ์ มีตอนที่ไพเราะอยู่หลายตอน เช่นตอนพระอินทร์คืนนคร และอุ้มนางสุชาดาและชี้ให้ชมแม่น้ำสีทันดร ตอนชมเขาอัสกรรณ และตอนชมเขาอิสินทร เป็นต้น แต่ละตอนที่กล่าวนี้ล้วนเรียบเรียงอย่างประณีต ใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพพจน์ดังนั้น เมื่อรวมกับความงามตอนท่านผู้ประพันธ์ได้บรรยายถึงสรวงสวรรค์ของพระอินทร์ข้างต้นแล้ว ความงามทั้งหมดนี้จึงเป็นเครื่องส่งเสริมให้บทประพันธ์อันมีปริมาณน้อย และไม่ใคร่จะแพร่หลายเรื่องนี้ เป็นประหนึ่งเพชรที่จมอยู่ในตมอย่างแท้จริง

อ้างอิง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. วรรณคดีเจ้าพระยาพระคลัง (หน). แพร่พิทยา : พระนคร, 2515.

สมุดไทย | เจ้าพระยาพระคลัง (หน) | วรรณคดีรัตนโกสินทร์